หัวใจวายขณะวิ่ง อันตรายที่คาดไม่ถึง



คอลัมน์ : จับกระแส

หัวใจวายขณะวิ่ง อันตรายที่คาดไม่ถึง

คนที่ชอบวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิ่งมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน ลองมาทำความรู้จักกับโรคหัวใจวายกันหน่อย เพื่อดูว่าโรคหัวใจวายเกิดจากอะไร แล้วจะลดความเสี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เกิดกับเราได้ไง หัวใจวายเฉียบพลัน เกิดจากอะไร การที่คนไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้ป่วยโรคหัวใจ อายุก็ไม่มาก แถมดูแล้วแข็งแรงดี แต่วิ่ง ๆ อยู่แล้วล้มลง เสียชีวิต เกิดจากอะไรได้บ้าง

1. ภาวะ Over load การออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง หัวใจจะเต้นเร็ว ความดันเลือดจะเพิ่มสูง อะดรีนาลีนในร่างกายก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวใจเกิดภาวะบีบตัวแรงจนส่งเลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก ทำให้มีอาการจุก แน่นหน้าอก วูบไป และอาจเสียชีวิตได้หากช่วยไม่ทัน

2. เกิดความผิดปกติของหัวใจ แบ่งออกได้ 2 ช่วงอายุ - อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากจะพบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด รวมไปถึงภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดร้ายแรง - อายุมากกว่า 35 ปี กลุ่มนี้มักพบ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

3. ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า มักเป็นความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน จนกระทั่งไปออกกำลังกาย แรงๆ หนัก ๆ มากเกินไป ก็อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงเสียชีวิตได้เช่นกัน

ใครเสี่ยงบ้าง หัวใจวายเฉียบพลัน แม้โรคหัวใจวาย จะไม่แสดงอาการให้รู้ตัวมากนัก แต่หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรระวัง

• ผู้ที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย

• ผู้ที่ตรวจพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมกับโรคหัวใจขาดเลือด หรือตรวจพบการทำงานของหัวใจผิดปกติ

• ผู้ที่มีอาการต้องสงสัยของโรคหัวใจ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เจ็บบริเวณกราม เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกเมื่ออยู่ในท่านั่ง นอนราบ หรือขณะออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือรู้สึกโมโห ตื่นเต้น มีอาการหายใจไม่สะดวกเวลานอน จนต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจ มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

• ผู้ที่เคยหมดสติขณะออกกำลังกาย หรือวูบตอนเปลี่ยนท่า ยกของหนัก ทำกิจกรรมหนัก ๆ

• ผู้มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

• ผู้ที่สูบบุหรี่

• ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบหืด เป็นต้น

• ผู้ที่ไม่เคยออกแรงหนัก ๆ มาก่อนเลย หรือไม่ได้ซ้อมก่อนไปวิ่ง หรือปกติอาจจะเคยวิ่งวันละไม่กี่กิโลเมตร แต่อยู่ ๆ ไปลงวิ่งมาราธอน วิ่งระยะไกลกว่าที่เคยวิ่ง ส่วนมากแล้วโรคหัวใจวายเฉียบพลัน อาการจะไม่ค่อยแจ้งเตือนมาก่อน

แต่หากพบความผิดปกติเหล่านี้ก็ควรฉุกคิด และนึกถึงอาการหัวใจวายเป็นอันดับแรก ๆ รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ อย่างที่ไม่เคยเหนื่อยมาก่อน เช่น เคยทำแบบนี้มาแล้วแต่ไม่เหนื่อยเท่านี้ เป็นต้น แน่นหน้าอก หรือแสบบริเวณลิ้นปี่ ใจสั่น รู้สึกหวิว ๆ หน้ามืด คลื่นไส้ ปวดร้าวบริเวณกราม คอ แขน หัวไหล่ มีอาการลอย ๆ วิ่งเซไป เซมา หอบผิดปกติ เหงื่อท่วมตัว เริ่มพูดไม่รู้เรื่อง หากมีอาการดังกล่าว หรือ พบเห็นนักวิ่งข้างๆ มีอาการแบบนี้ ควรรีบให้พัก และขอความช่วยเหลือโดยด่วน หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพบเห็นผู้ป่วยมีอาการหัวใจวายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรได้รับการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต หรือการ CPR และควรได้รับการปฐมพยาบาลด้วยเครื่อง AED (Automated External Defibrillator) หรือเครื่องช็อกหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจกลับมาเต้น ตามปกติได้ และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ดี การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ควรออกกำลังกายภายใต้ความปลอดภัยของร่างกาย ดังนั้นก็อย่าลืมดูแลตัวเองให้ดี เตรียมความพร้อมให้ชัวร์ และตรวจสุขภาพก่อนไปทำกิจกรรมหนัก ๆ ด้วย

ที่มาข้อมูลและภาพ : Sanook Health

Smartnews เผยแพร่ วันที่ 2 ธันวาคม 2563

topic

  • เดินหน้ารณรงค์ลดนักสูบหน้าใหม่ สร้างความรู้เท่าทันภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • เครือข่ายสื่อมวลชนจับมือเครือข่ายครู ผนึกกำลังระดมแผนปฏิบัติการณ์
  • ชวนนักศึกษามอบของขวัญปีใหม่ให้ตนเอง “สุขภาพแข็งแรง เริ่มต้นด้วยการไม่สูบบุหรี่”
  • หัวใจวายขณะวิ่ง อันตรายที่คาดไม่ถึง
  • รวมพลัง Gen Z รู้เท่าทัน (บริษัท) บุหรี่ไฟฟ้า
  • ผนึกกำลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อน อปท.ปลอดบุหรี่
  • เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 4 ศูนย์ รอบรั้วมทร.พระนคร
  • องค์การอนามัยโลก ตั้งเป้า 100 ล้านคนทั่วโลกเลิกบุหรี่ได้ในปีหน้า
  • เทคนิคการสร้างพลังใจเพื่อช่วยสามเณรให้เลิกสูบบุหรี่
  • มติมหาเถรสมาคม แนวทางการปฏิบัติวัดปลอดบุหรี่ และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย