ฮูแจง... ผู้สูบบุหรี่ไทย ตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 15,000 คน

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

                                                                                                                             

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 21 พฤษภาคม 2561

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

ฮูแจง... ผู้สูบบุหรี่ไทย

ตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 15,000 คน

วันนี้ 21 พฤษภาคม  2561 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดการแถลงข่าว“บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ” เพื่อให้เกิดกระแสของการรณรงค์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยแสดงถึงผลกระทบของบุหรี่ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอื่น ๆ รวมถึงโรคเส้นเลือดสมอง ซึ่งรวมกันแล้วเป็นสาเหตุการเสียชีวิตระดับต้น ๆ ของโลกและของประเทศไทย ณ ห้องแคทลียา ชั้น 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต

            นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย  เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกกำหนดหัวข้อในการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับพิษภัยของยาสูบต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด และรณรงค์ให้เกิดนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคยาสูบ  การสูบบุหรี่นั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ในแต่ละปี การสูบบุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปเกือบ 3 ล้านคน จากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมถึง หัวใจวาย           และหลอดเลือดสมองอุดตันนั้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรไทย

            ในแต่ละปี คนไทยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 15,000 คน มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ สารนิโคติน สารเคมีอันเป็นพิษ และก๊าซต่าง ๆ ในควันบุหรี่ ก่อให้เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เนื่องจากมันไปทำลายผนังหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด หลอดเลือดตีบตัน และขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่าง ๆ  ผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่สูบบุหรี่นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองอุดตัน มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึงสี่เท่า

            ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ แต่การสูบบุหรี่นั้นก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ เนื่องจาก ประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 5 คน และเด็ก 1 ใน 6 คนนั้นยังคงสูบบุหรี่ ซึ่งคิดเป็นจำนวน เกือบถึง 11 ล้านคน การสูบบุหรี่นั้นก่อให้เกิดความสูญเสียต่องบประมาณด้านสุขภาพอย่างมหาศาล และทำลายเศรษฐกิจ ของประเทศ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยจากการสูบบุหรี่ในปี  2552  นั้นมีมูลค่าถึง 75  พันล้านบาท

            การดำเนินงานตามนโยบายควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยป้องกันประชาชนไทยเป็นแสนคนจากการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ นอกจากนั้น การเลิกบุหรี่ยังสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ 1 ปีนั้น จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่

            นายแพทย์แดเนียล กล่าวเพิ่มเติมว่า  ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการต่อสู้กับพิษภัยของบุหรี่  พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) นั้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการลองสูบบุหรี่ ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเข้มงวดทั่วประเทศ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น เราต้องพยายามที่จะทำให้สถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นแหล่งให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ ให้คำปรึกษา และแนะนำมาตรการ ที่ได้ผลในการเลิกบุหรี่แก่ผู้ที่สูบบุหรี่

            นายแพทย์แดเนียล กล่าวตอนท้ายว่า เป็นที่น่าชื่นชมยินดีที่ประเทศไทยมีความร่วมมือระหว่างภาคีที่รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และแพทย์จากสมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการป้องกันการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ในการนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอเน้นย้ำว่า องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานสหประชาชาติต่าง ๆ นั้นให้คำมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทย และภาคีเครือข่ายในการต่อสู้กับพิษภัยของยาสูบ เพื่อลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชากรไทยที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ และโรคหัวใจและหลอดเลือด 

            ด้าน ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน โรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมอง  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงตีบตันซึ่งหมายถึงหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองปีละ 100,000 คนคิดเป็น 20 % หรือหนึ่งในห้าของสาเหตุการเสียชีวิของคนไทยในแต่ละปี ซึ่ง 20 % หรือ หนึ่งในห้าของคนไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่   ในขณะที่คนไทยที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 45 ปี ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบถึงสี่เท่า หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็ คือ เกือบครึ่งหนึ่งของคนวัยหนุ่มสาว ถึงกลางคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

            นอกจากนี้ผู้ที่เป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง หรือ passive or second hand smoker มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดพอ ๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่  ซึ่งการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554 พบว่า มีคนไทย 12.2 คน  ที่ไม่รู้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจวาย และมี 18.5 ล้านคน  ที่ไม่รู้ว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจได้

            ผศ.นพ.ครรชิต กล่าวต่อว่า  ทั้งนี้การสูบบุหรี่เพียงหนึ่งถึงสองมวนต่อวันก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แม้แต่การสูบบุหรี่ไร้ควันหรือ E cigarette ก็มีสารนิโคตินซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน  นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่และสามารถเลิกบุหรี่ได้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 30 % 

            ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้  โดยการได้รับควันบุหรี่มือสองเพียง 30 นาที  ก็เกิดอันตราย ต่อเยื่อบุหลอดเลือด และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลงได้  โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และสมองปีละ 2,615 คน จากจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองทั้งหมดปีละ 6,500 คน ในสหรัฐอเมริกามีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 33,950 คน และมีชาวอเมริกา 2,194,000 คน ที่เสียชีวิตระหว่าง ค.ศ.1964  - 2014 จากโรค     เส้นเลือดหัวใจที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง  ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านหรือที่ทำงาน  จึงขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ที่ยังเลิกสูบไม่ได้ ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน  เพื่อลดอันตรายที่คนในบ้านจะได้รับจากควันบุหรี่  ซึ่งข้อมูลสำรวจล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 พบว่า มีคนไทย 17.3 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน

            ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณชวาลา  ภวภูตานนท์ฯ โทร. 0-2278-1828