สสส.จับมือ เคเบิลทีวี 50 สถานี เปิดเวทีเสริมสุขภาพพัฒนาสังคมไทยสู่สังคมสุข

คอลัมน์ : เรื่องเล่าภาคีเครือข่าย

โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสุขภาวะประเด็นลดปัจจัยความเสี่ยงทางสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายเคเบิลทีวีทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ภายใต้หัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์...เปลี่ยนสังคม ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ผ่านระบบประชุม Zoom Meeting ทุกวันจันทร์ - อังคาร ตลอดเดือนกันยายน 2564

ประเดิมเวทีแรกประเด็น “บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด” มี รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธี พร้อมกับ ดร.พญ.เริงฤดี ปานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนายภัทรชัย ปราชญ์อุดม ผู้ประกาศข่าวช่อง 7 ดำเนินรายการ

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ประธานเปิดงานได้กล่าวว่า

"ที่ผ่านมา สสส. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายเคเบิลท้องถิ่น ภายใต้การบริหารจัดการของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลท้องถิ่นสาธารณะ Cable Channel 37HD ที่มีสถานีเคเบิลท้องถิ่นกว่า 50 สถานีทั่วทุกภูมิภาค ร่วมเผยแพร่ข่าวสาร สื่อรณรงค์เสริมสร้างสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยง ของ สสส. อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ด้วยกลไกการทำงานของภาคีเครือข่าย สสส. มีการกระจายการดำเนินงานที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ

ดังนั้นการจัดเวทีแลกเปลี่ยน “สื่อสร้างสรรค์...เปลี่ยนสังคม ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” จึงเสมือนเป็นสะพานเชื่อมภาคีเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงเชิงประเด็นและพื้นที่ได้ทำความรู้จักกัน สานสัมพันธ์กับสื่อเคเบิลท้องถิ่นในพื้นที่การทำงานของภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นพลังในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สังคมไทยต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่” การสื่อสารประเด็นลดปัจจัยเสี่ยง เรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ที่เป็นความเสี่ยงหลักในการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในเวลานี้ รวมทั้งการสร้างความตระหนักในเรื่องดื่มไม่ขับ การสร้างทัศนคติที่ดีในการขับขี่อย่างปลอดภัย เหล่านี้ล้วนเป็นการหนุนเสริมกลไกการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย ในทุกมิติ ทุกประเด็น ได้บรรลุสู่เป้าหมายการรณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนัก และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)

การเชื่อมโยงประเด็นการทำงานของภาคีต่าง ๆ ในทุกมิติ ทั้ง ‘พลังนโยบาย พลังปัญญา และพลังสังคม’ ให้มีการหนุนเสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกัน โดยมี “พื้นที่สื่อ” เป็นสะพานเชื่อมฐานข้อมูลไปสู่ชุมชนได้อย่างเข้าใจ และเข้าถึง” รศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าว

# สื่อสร้างสรรค์...เปลี่ยนสังคม ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด สังคมไทย สังคมสุข Zoom Meeting สสส.

ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมุสขภาพ สสส.

Smartnews เผยแพร่ 22 กันยายน 2564