ทำไม ! ต้อง "Ban" ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ (2)

คอลัมน์ : ทันโลก

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มีหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า/บารากู่ไฟฟ้า ได้ดำเนินงานตรวจสอบติดตามและปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ "ฉก." ขึ้นมา แบ่งหน้าที่ทำงานเป็นฝ่ายสืบเสาะ ฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายสอบปากคำ และฝ่ายประสานงานต่างๆ 

ที่ผ่านมาได้มีการล่อซื้อสินค้าตามเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ แต่พบว่า ทางเว็บไซต์ไม่มีการตรวจสอบสินค้า และผู้นำสินค้ามาจำหน่ายนั้นไม่ได้จดทะเบียนบัญชีผู้ใช้ในประเทศไทย การติดตามตัวผู้กระทำผิดจึงทำได้ยาก และเมื่อ สคบ.จะดำเนินคดี ทางเว็บไซต์จะแต่งตั้งทนายขึ้นมาต่อสู้ นอกจากนี้ สคบ.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ร่วมกับทหารเพื่อตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายที่คลองถม จำนวน 18 ร้าน ตรวจยึดของกลางเป็นจำนวนมาก รวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท รวมไปถึงกรณีสแน็คผับ จังหวัดสมุทรปราการ ที่พบว่า มีเยาวชนอายุต่ำสุด 12 ปีเข้าไปใช้บริการและกำลังสูบบารากู่ไฟฟ้าอยู่

ภายหลังจากการตรวจจับนำมาสู่การสั่งปิดสแน็คผับโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 

ในการดำเนินการต่างๆ สคบ.ได้ใช้อำนาจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557) ห้ามนำผ่านราชอาณาจักร (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559) และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ห้ามขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทน ตลอดจนเสนอหรือชักชวนเพื่อการดังกล่าว ห้ามให้บริการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทน 

อย่างไรก็ตาม 

เคยมีกรณีจับกุมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากตลาาดนัดแห่งหนึ่งและกำลังเดินสูบอยู่บนถนน ทำให้ทราบว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าประเทศไทยมีกฎหมายนี้ และการดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลด้านกฎหมายแก่นักท่องเที่ยวยังมีน้อยมาก 

ข้อมูลจาก : การประชุมบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 17

โดย หริสร์ ทวัพัฒนา นักวิชาการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

วันที่ 19 กันยายน 2561